17 พ.ย. 2022

กระจกกันเสียง (Acoustic Glass)

          เชื่อว่าหลายๆคน เคยรู้สึกรำคาญเสียงรบกวนจากภายนอก เป็นปัญหาหนึ่งที่แก้ไม่ตกเสียที บางคนต้องยอมอดทนกับเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในทุกๆวัน แล้วยังทำลายเวลาความเป็นส่วนตัว และ การพักผ่อน อาจส่งผลทำให้เสียสุขภาพกาย สุขภาพใจบทความนี้จะมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียง และ วิธีการแก้ไขให้เสียงรบกวนที่มีอยู่นั้นให้ลดน้อยลงหรืออาจจะหายไปเลยก็ได้
          เริ่มต้นในการแก้ไขเรื่องเสียงรบกวนจากภายนอก ต้องสังเกตไปรอบๆห้องดูก่อนว่า สาเหตุที่มาของเสียงที่เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องนั้นมาจากตรงไหน เช่น ช่องว่างใต้ประตูบานเลื่อน , พัดลมระบายอากาศ , ช่องว่างระหว่างกระจกบานเกล็ดหรือ การติดตั้งกระจกที่ไม่ได้ป้องกันเสียง หลักการง่ายๆที่เสียงสามารถเข้ามาได้ก็คือ เสียงสามารถเดินทางมากับอากาศได้ เพราะฉะนั้นถ้าห้องของเรามีช่องอากาศมากเท่าไหร่ เสียงก็ยิ่งเดินทางเข้ามาได้มากเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าต้องการป้องกันเสียงให้ดีมากขึ้น ควรซีลตามช่องที่อากาศสามารถเล็ดลอดเข้ามาในห้องให้หมดก็จะช่วยลดเสียงรบกวนลงได้บางส่วนแล้ว

          หลังจากแก้ไขที่มาของเสียงรบกวนเบื้องต้นแล้ว เสียงก็ยังดังเข้ามาภายในห้อง อาจเป็นเพราะว่าวัสดุที่เป็นส่วนผนังห้องป้องกันเสียงได้ไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากกระจกที่มีความบางกว่าผนังปูนค่อนข้างมาก อีกทั้งกระจกส่วนใหญ่จะหันหน้าออกนอกอาคารเพื่อรับแสง จึงเป็นด้านที่รับเสียงจากภายนอก เช่น เสียงรถยนต์บนถนน เสียงรถไฟฟ้า เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราจะมาเลือกใช้กระจกที่สามารถป้องกันเสียงเข้ามาเสริมให้สามารถป้องกันเสียงได้ดียิ่งขึ้น

          ก่อนจะเลือกกระจกสำหรับป้องกันเสียง มาทำความเข้าใจค่า STC (Sound Transmission Class) กันเล็กน้อยเพราะว่า การเลือกกระจกที่ป้องกันเสียงได้ดีหรือไม่ดีเราจะดูค่านี้เพื่อเปรียบเทียบกับสเปคกระจกอื่นๆ
          ค่า STC นั้น ย่อมาจาก Sound Transmission Class หรือพูดง่ายๆ คือ ค่าประสิทธิภาพของการป้องกันเสียง ซึ่งได้มาจากการที่นำวัสดุ ไม่ว่าจะเป็น ผนังปูน , กระจก ไปทดสอบใน Lab จะได้ค่าออกมาเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการยอมให้เสียงผ่านไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าค่า STC ยิ่งสูงยิ่งกันเสียงได้ดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแหล่งกำเนิดเสียงด้วยว่าดังมากน้อยแค่ไหน

แล้วเราจะเลือกค่า STC เท่าไหรถึงจะกันเสียงได้ดี???

จากภาพกราฟฟิกด้านบนนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นภาพง่ายๆและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

  • STC 30 กว่าๆนั้นตำ่ไปคุยกันได้ยิน
  • STC 40 เริ่มกันเสียงได้ดี คุยกันแทบไม่ได้ยิน
  • STC 50 เสียงตะโกนก็แทบไม่ได้ยิน (ระดับนี้ เหมาะกับห้องประชุมที่ใช้พูด-คุย, ห้องนอน)
  • STC 60 ระดังนี้เสียงตะโกนไม่ได้ยิยเลย (เหมาะกับห้องที่ต้องการความเงียบ เช่น โฮมเธียเตอร์)
  • STC 70 ขึ้นไป อันนี้เป็นผนังพิเศษ สำหรับพวกโรงภาพยนต์ ผับ หรือที่ต้องการกันเสียงดังๆมากเป็นพิเศษ
  •            ผมขอแนะนำคนที่กำลังจะเลือกกระจกที่ใช้ป้องกันเสียง ควรเลือกที่มีค่า STC มากกว่า 40 ขึ้นไป ถึงจะเริ่มกันเสียงได้ดีและสัมผัสได้ถึงการลดเสียงรบกวน ถ้าเลือกค่า STC น้อยกว่า 40 เราอาจจะไม่รู้สึกถึงการป้องกันเสียงไปจากกระจกเดิมๆ เลยครับ
              ผมอยากจะแนะนำกระจกที่ออกแบบมาช่วยเรื่องการป้องกันเสียงเลย ก็คือ Acoustic glass หรือ กระจกกันเสียง เป็นกระจกที่มีการใช้ฟิล์ม PVB ชนิดพิเศษ ที่ช่วยป้องกันเสียงได้ดีกว่า กระจกลามิเนตธรรมดาทั่วๆไป เช่น หากเราต้องการหากระจกที่มีค่า STC 40 dB กระจกกันเสียงความหนาเพียง 12.76 มิลลิเมตร สามารถให้ค่าป้องกันเสียงได้ถึง 40 dB ซึ่งมีค่ามากกว่ากระจกอินซูเลตที่มีความหนา 36 มิลลิเมตร(6 + Airgap24 + 6) มีค่า STC เท่ากับ 35 dB เท่านั้น
               โดยสรุปแล้ว ค่า STC ยิ่งสูงยิ่งกันเสียงได้ดีนะครับ แต่ STC ของผนังห้องจะออกแบบสูงแค่ไหน ใช้ค่าเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับระดับของแหล่งกำเนิดเสียงครับว่าดังมากแค่ไหน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้  ที่นี่

    อ่านบทความอื่นๆ คลิ๊ก